ไตวายเป็นโรคที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง อาจนานหลายปี เรียกว่า “โรคไตวายเรื้อรัง” หรือเกิดขึ้นกะทันหัน เรียกว่า “ไตวายเฉียบพลัน” เมื่อเกิดโรคไตวายทั้งสองชนิดนี้ ส่งผลให้ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
ดังนั้น หากคุณคิดว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตวาย ลองสังเกตตัวเองดูว่า มีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่
1. เหนื่อย อ่อนเพลีย
หนึ่งในสัญญาณเตือนแรกๆของโรคไตวาย คือ อาการเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดจากภาวะโลหิตจาง อันมีสาเหตุจากจำนวนเม็ดเลือดแดงในร่างกายลดน้อยกว่าปกติ
เมื่อภาวะไตวายเกิดขึ้น ไตจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอีริโทรพอยอีติน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้อีกต่อไป ดังนั้น คุณจึงรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
2. หายใจหอบถี่
ขณะเริ่มมีอาการไตวาย ของเสียที่เกิดจากกระบวนการสันดาปซึ่งส่วนใหญ่มีค่าเป็นกรด จะเริ่มสะสมภายในร่างกาย ปอดจะพยายามทดแทนความเป็นกรดสูงนี้ ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปผ่านการหายใจเร็วๆ จึงทำให้รู้สึกเหมือนหายใจไม่ทัน และในบางกรณีอาจมีน้ำท่วมในปอด ทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ จึงทำให้หายใจลำบากหรือติดขัด
3. คันตามเนื้อตัว
โรคไตวายเป็นสาเหตุของอาการคันที่เกิดขึ้นกะทันหัน มีสาเหตุจากแร่ธาตุฟอสฟอรัสที่สะสมอยู่ในเลือด อาหารทุกชนิดประกอบด้วยฟอสฟอรัสในปริมาณหนึ่ง แต่อาหารบางอย่าง เช่น นม มีฟอสฟอรัสมากกว่าอาหารอื่นๆ
ไตที่มีสุขภาพดี สามารถกรองและขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกาย แต่หากอยู่ในภาวะไตวาย ฟอสฟอรัสจะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและตกผลึก ก่อการระคายเคืองบนผิวหนัง ทำให้รู้สึกคันตามเนื้อตัว
4. ปัสสาวะมีการเปลี่ยนแปลง
โรคไตวายทำให้การปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป คนที่มีอาการไตวายระยะแรก จะปัสสาวะมากผิดปกติ แต่เมื่ออาการไตวายรุนแรงขึ้น จำนวนปัสสาวะอาจลดน้อยลงได้เช่นกัน
และอาจมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ซึ่งเกิดจากการที่โปรตีนรั่วเข้าในปัสสาวะขณะเกิดอาการไตวาย และปัสสาวะมีสีส้มแก่ ซึ่งมีสาเหตุจากเม็ดเลือดแดงรั่วเข้าในปัสสาวะ
5. ตัวบวม
ให้สังเกตว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมีอาการบวม ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายหลั่งของเหลวออกมามากเกินไปและสะสมอยู่ในเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ของเหลวจึงสะสมอยู่ภายในเนื้อเยื่อและทำให้เกิดอาการบวม ซึ่งมักเกิดที่บริเวณแขน ขา เท้า และใบหน้า หากมีของเหลวคั่งในร่างกายมากเกินไป อาจทำให้น้ำท่วมปวด ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก และหัวใจล้มเหลวได้
6. หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
เมื่อเกิดภาวะไตวาย แร่ธาตุโปแตสเซียมไม่สามารถถูกขับถ่ายออกจากร่างกายได้ตามปกติ ซึ่งการมีโปแตสเซียมสูง เป็นอันตรายต่อหัวใจ อาจทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และหัวใจห้องล่างเต้นกระตุก ผลไม้หลายชนิดมีส่วนประกอบของโปแตสเซียม เช่น ทุเรียน กล้วย ส้ม ฝรั่ง ลำไย ขนุน น้อยหน่า แก้วมังกร คนไข้ที่มีอาการไตวายควรงดรับประทาน
7. วิงเวียนหรือเซื่องซึม
ยูเรียเป็นสารอินทรีย์ที่เหลือจากการที่ร่างกายใช้โปรตีน โดยเป็นของเสียที่ไตขับออกมาทางปัสสาวะ เมื่อเกิดภาวะไตวาย สารยูเรียจะคั่งค้างอยู่ในร่างกาย และอาจขึ้นไปที่สมอง จึงทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ ขาดสมาธิ และไร้ความรู้สึก หากยูเรียสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป จะก่อให้เกิดภาวะยูรีเมีย (ภาวะที่มีของเสียคั่งในเลือด) ซึ่งอาจทำลายสมองและนำไปสู่อาการโคม่า
8. รู้สึกถึงรสโลหะในปาก
แอมโมเนียเป็นสารพิษที่เกิดจากการสลายตัวของโปรตีนในร่างกาย ในภาวะไตวายนั้น ไตไม่สามารถกรองและขับแอมโมเนียออกจากร่างกายได้ตามปกติ เมื่อระดับแอมโมเนียในเลือดสูงขึ้น จะทำให้รู้สึกได้ถึงรสโลหะในปาก(Metallic taste) และลมหายใจมีกลิ่นเหม็น รวมทั้งอาจทำให้เบื่ออาหารและน้ำหนักลดได้เช่นกัน
9. คลื่นไส้
โรคไตวายทำให้รู้สึกคลื่นเหียนอาเจียน เนื่องจากไตหยุดทำงาน สารพิษจึงตกค้างอยู่ในร่างกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ซึม และสับสน เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว จำเป็นต้องรักษาทันทีด้วยการฟอกไต
10. ปวดหลังช่วงล่าง ขา หรือข้างลำตัว
โรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า โรคถุงน้ำในไต ก่อให้เกิดถุงน้ำหรือซีสต์จำนวนมากอยู่ในเนื้อไต และบางครั้งอยู่ในตับ โดยของเหลวที่อยู่ในซีสต์นั้น เป็นสารพิษที่สามารถทำลายปลายเส้นประสาทของอวัยวะช่วงล่าง ทำให้ปวดหลังช่วงล่าง ขา หรือข้างลำตัว โดยอาการปวดอาจมาในรูปความรู้สึกชา เสียว หรือปวดร้อน
11. ไม่แสดงอาการ
ในบางกรณี ภาวะไตวายอาจไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จะไม่แสดงอาการใดๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำ
อาการไตวายจะปรากฏเมื่อไตไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกาย หรือรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้เท่านั้น..
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557)
#clubคนรักสุขภาพ
-----------------------------------------------------------
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของclubคนรักสุขภาพทางlineได้ที่ลิ้งด้านล่างนะจ๊ะ😙😙😙
จิ้มเบาๆนะจ๊ะ >>http://line.me/ti/p/%40clubthehealth
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น